ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด ปี 2553





รายละเอียด


จัดขึ้นในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถึง วันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 ในปีนี้   ตรงกับ วันที่ 19 – 31 ตุลาคม 2553 โดยความเชื่อของชาวไทยใหญ่ก่อนถึงวันงานจะมีการจัดเตรียมสร้างปราสาทจำลอง ทำด้วยโครงไม้ไผ่ ประดับลวดลายด้วยกระดาษสา กระดาษสีต่างๆ หน่อกล้วย อ้อยและโคมไฟ ตกแต่งอย่างสวยงาม เรียกว่า "จองพารา"  เพื่อใช้สมมติเป็นปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลังจากเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  จากนั้นก็จะยก "จองพารา" ขึ้นไว้นอกชายคา นอกรั้ว หรือบริเวณกลางลานทั้งที่บ้านและที่วัด โดยในช่วงเย็นวันที่  21 ตุลาคม 2553 จะมีการแห่ขบวนจองพาราของแต่ละหมู่บ้านในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนซึ่งตกแต่งอย่างสวยงามพร้อมขบวนฟ้อนรำตั้งแต่บริเวณสะพานหน้าโรงแรมรุคส์ฮอลิเดย์ถึงบริเวณถนนสิงหนาทบำรุง ในตอนเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (23 ตุลาคม 2553) อันเป็นวันออกพรรษาตั้งแต่เช้าตรู่ประชาชนชาวไทยใหญ่ จะพร้อมใจกันตักบาตรเทโวโรหนะ บริเวณวัดพระธาตุดอยกองมู พระภิกษุ สามเณรและประชาชน





นับร้อยนับพันจะเรียงรายสองข้างทางบันไดนาค เพื่อทำบุญตักบาตร เรื่อยลงมาจนถึงวัดม่วยต่อซึ่งอยู่บริเวณเชิงเขา ส่วนในตอนเย็นจะนำดอกไม้ธูปเทียนและขนมข้าวต้มไปขอขมาบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ก่อนย่ำรุ่งของวันแรม 1 ค่ำ จะมีพิธี    "ซอมต่อ" คือการอุทิศเครื่องเซ่นแก่สิ่งที่ชาวไตถือว่ามีบุญคุณในการดำเนินชีวิต โดยนำกระทงอาหารเล็กๆ ที่จุดเทียนติดไว้ด้วยไปตั้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ แสงประทีปนับร้อยนับพันดวงตามวัด สถูปและบ้านเรือน ตลอดระยะเวลาของการจัดงานตั้งแต่แรม 1 ค่ำไปจนถึงแรม 8 ค่ำ จะมีการถวายข้าวที่จองพาราวันละครั้ง และจุดเทียนหรือประทีป โคมไฟไว้ตลอดในช่วงเวลาตลอดเทศกาล จะมีการละเล่นเฉลิมฉลองหลายชนิด เช่น ฟ้อนโต ฟ้อนรูปสัตว์ต่าง ๆ ฟ้อนก้าแลว(ฟ้อนดาบ) ฯลฯ ก่อนจะถึงวันแรม 8 ค่ำ จะมีพิธี "หลู่เตนเหง"คือ การถวายเทียนพันเล่ม โดยแห่ต้นเทียนไปถวายที่วัด และใน "วันก๋อยจ๊อด" คือวันแรม 8 ค่ำ อันเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลออกพรรษา จะมีพิธี   "ถวายไม้เกี๊ยะ" โดยนำฟืนจากไม้เกี๊ยะ(สนภูเขา) มามัดรวมกันเป็นต้นสูง แล้วนำเข้าขบวนแห่ประกอบด้วย ฟ้อนรูปสัตว์ต่าง ๆ และเครื่องประโคมไปทำพิธีจุดถวายเป็นพุทธบูชาที่ลานวัด เป็นอันสิ้นสุดเทศกาลออกพรรษาของชาวไต



ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน
- -
0 5361 2982 -3
0 Responses